29.8.51

ประวัติวัดลักษณาราม

ประวัติวัดลักษณาราม

วัดลักษณารามเป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่เลขที่ 227 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเพชร
โดยมีถนนหลวงสายเพชรบุรี - บ้านแหลม - บางตะบูน ตัดผ่านหลังวัด
นายลักษณ์ เป็นชาวบ้านเกาะกรูด จังหวัดตราด มีอาชีพค้าขายทางทะเลโดยนำสินค้าจากจังหวัดตราดไปขายตามอ่าวต่างๆและมาขายที่อ่าวบ้านแหลมอยู่เสมอ
ทำให้เกิดความสนิทสนมกับชาวบ้านเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับนางสาวโหมด จนแต่งงานอยู่กินกัน
นายลักษณ์ นางโหมด เป็นผู้ที่มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เมื่อพิจารณาว่ายังไม่มีวัดทางฝั่งตะวันตกเลยสักวัด วัดทางตะวันออกมีหลายวัด
คือ วัดต้นสน วัดในกลาง วัดศรีษะคาม และวัดอุตมิงฆาวาส เวลาไปทำบุญแต่ละครั้งต้องออกเดินไกลมาก
สองสามีภรรยาจึงตัดสินใจสร้างวัดนี้ขึ้นโดยปรึกษากับเจ้าของที่ดิน คือ นายตัน นางก่วย และบุตรชายคือ นายจาด บุตรสาวคือ นาวสายใจ คำนวนศิริ
เพื่อขอซื้อที่ดินสร้างวัด แต่เจ้าของก็มีจิตศรัทธา จึงได้ยกที่ดินให้สร้างวัดโดยไม่คิดมูลค่าใดๆทั้งสิ้น
ชื่อวัด
วัดลักษณาราม ได้รับการเรียกขานจากประชาชน ในชื่อต่างๆกัน เช่น วัดคลองท่าแห วัดตาลักษณ์ วัดใหม่ไตรลักษณ์ และในที่สุดเป็นวัดลักษณาราม
ที่มาของชื่อต่างๆ ตามสันนิฐานมีดังนี้
๑ ที่เรียกว่า วัดคลองท่าแห เพราะตรงปากคลองมีคนมาทอดแหหาปลา ได้อาศัยมารอน้ำทอดแหของตน
๒ ที่เรียกว่า วัดตาลักษณ์ เรียกตามชื่อผู้สร้าง
๓ ที่เรียกว่า วัดใหม่ไตรลักษณ์ เนื่องจากเป็นวัดสร้างใหม่
๓ ที่เรียกว่า วัดลักษณาราม เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชฯ (จวน อุฎฐายี) วัดมฏุกษัตริยาราม กรุงเทพฯ ในสมัยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลราชบุรี
ได้มีโอกาสมาเยี่ยมประชาชนชาวบ้านแหลม ทรงทราบว่ามีวัดสร้างใหม่ชื่อ วัดใหม่ไตรลักษณ์ จึงทรงให้ความเห็นว่า ไตรลัษณ์ หมายถึง ลักษณะ๓คือ อนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา ฟังดูไม่เป็นมงคล จึงได้ประทานชื่อใหม่ว่า วัดลักษณาราม ถือเป็นมงคลนามตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
กุฏิเดิมจริงๆ เป็นหลังคามุงจาก ต่อมาชาวบ้านได้ถวายบ้านของตนมาปลูกเป็นกุฏิ ก่อนพัฒนามีกุฏิทั้งสิ้น๑๒หลัง มีรูปแบบต่างกัน มุงกระเบื้องบ้าง มุงสังกะสีบ้าง
ในที่สุดสิ่งปลูกสร้างก็ชำรุดไปตามสภาพ อยู่มาได้หลายสิบปี ปัจจุบัน เป็นอาคารคอนกรีตทรงไทยสองชั้น ๔ชุด ประกอบด้วยหอฉัน หอสวดมนต์จตุรมุข
ใช้ประโยชน์ทางด้านศาสนกิจต่างๆ
ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุ
๑.พระอุโบสถ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาสองชั้นทรงไทย กว้าง๑๐เมตร ยาว๓๐เมตร สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
กรุงเทพฯ เสด็จมาเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๓ และเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรม
ราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธาน ยกฉัตรพระประธานพระอุโบสถ และทรงตัดลูกนิมิตร อุโบสถหลังนี้สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๖ ล้านบาท
๒.พระพุทธรูปจำลอง เนื้อโลหะ มี ๘ องค์คือ
หลวงพ่อบ้านแหลม
หลวงพ่อวัดเขาคะเครา
หลวงพ่อพุทธโสธร
หลวงพ่อวัดไร่ขิง
หลวงพ่อวัดบางพลีใหญ่
หลวงพ่อปู่ศรีราชาวัดเขายี่สาร
หลวงพ่อมินทร์
หลวงพ่อเรียน
๓.พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นภาพเขียนสีน้ำมัน ขนาดกว้าง๒๔นิ้วยาว๓๐นิ้ว พร้อมกรอบโบราญ เขียนโดยจิตรกรชาวอิตาลีพระราชทานแก่ นายเอียง เมื่อวันที่ ๒๗กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗
ครั้งเมื่อพระองค์เสด็จโดยเรือฉลอมแล่นใบจากบางทะลุเข้าสู่อ่าวบ้านแหลม ซึ่งขณะนั้นน้ำงวดเรือพระที่นั่งติดที่ปากอ่าวบ้านแหลมเมื่อชาวบ้านทราบว่า เรือพระที่นั่งเกยตื้น
จึงมาช่วยกันเข็นจนสามารถกลับเพชรบุรีได้ ในจดหมายเหตุประพาสต้น ร.๕ พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระดำรงราชานุภาพสันนิฐานว่า นายเอียงคงได้รับพระราชทาน
ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในครั้งเข็นเรือพระที่นั่งครั้งนั้นเอง
๔. ศาลาเฉลิมพระเกียรติ (ศาลาการเปรียญ)
สร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อมีพระชนมายุ ๖๐พรรษา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ใช้ประโยชน์เป็นที่ประชุมสงฆ์ เป็นที่ประชุมคณะกรรมการวัด
เป็นที่ปฏิบัติธรรมของญาติโยมทุกวันพระ ลักษณะเป็นศาลาทรงไทย ออกแบบโดยท่านพระครูวิบูลวชิรสาร อดีตเจ้าอาวาสวัดลักษณาราม ประกอบด้วยซุ้มประตูหน้าต่างเป็นปูนปั้น
บานประตูหน้าต่างแกะสลัด โดยช่างฝีมือเมืองเพชร
๕. หอกลองหอระฆัง
รูปแบบทรงไทยสองชั้น ประกอบด้วยปูนปั้นลายไทย
๖. เมรุ
เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา (งานศพ) รูบแบบเป็นเมรุทรงปูนปั้นแบบทรงไทยตั้งกลางแจ้งประดับลวดลายไทยปูนปั้น ปัจจุบันเตาเผาปรับปรุงเป็นแบบไร้มลพิษ
ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี
๗. วิหารพระพุทธรูปสิ่งศักดิ์ประจำวัด
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดที่จำลองมาจากวัดต่างๆเพื่อเป็นที่กราบไหว้บูชาโดยทั่วกัน เป็นวิหารทรงไทยจตุรมุข ประกอบด้วยซุ้มประตู หน้าต่าง
เป็นปูนปั้น บานประตูหน้าต่างแกะสลัก โดยช่างฝีมือชาวเพชร สร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอย่หัวมีพระชนมายุครบ๖รอบ ๗๒ พรรษา
ออกแบบก่อสร้างโดยพระครูพัชรกิจจานุกูล เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
๘.ซุ้มประตูวัด
รูปแบบทรงไทยประกอบปูนปั้น
๙. ศาลาศรีวรนาถ
รูปแบบทรงไทยยกพื้น จัดเป็นห้องสมุดประจำวัดและใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ สนบสนุนโดยตระกูลศรีวรนาถและญาติโยมร่วมสมทบ

ลำดับเจ้าอาวาส
๑. พระอธิการสวน พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๗๒
๒. พระอธิการฟู พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๘
๓. พระครูสมุทรคุณาธาร พ.ศ.๒๔๘๐-๒๕๐๐
๔. พระครูวิบูลวชิรสาร พ.ศ.๒๕๐๑-๒๕๔๑
๕. พระครูพัชรกิจจานุกูล พ.ศ.๒๕๔๒-ปัจจุบัน
พระครูพัชรกิจจานุกูล ได้ดำเนินการบริหารวัดให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากให้มีข้อความต่อมาอีกเพราะอ่านดูแล้วไม่ค่อยได้ใจความค่ะ

บ้านยอดตำลืง เชียงดาว กล่าวว่า...

ได้เพิ่มเติมข้อมูลให้ตามประสงค์แล้ว
ยังมีเรื่องราวที่น่าติดตามอีก โปรดติดตามต่อไป