2.9.62

ลูกโกฐเมืองเพชร

ลูกโกฐเมืองเพชร
ลูกโกฐเมืองเพชร เป็นสิ่งที่ชาวเมืองเพชรบุรีได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วคนแล้ว จนกระทั่งกลายเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของเมืองเพชรบุรี
แต่เดิมลูกโกฐเมืองเพชรจะใช้ในงานพิธีศพสำหรับชนชั้นเจ้านายหรือในราชตระกูล เท่านั้น แต่ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชทานอนุญาตให้สามัญชนโดยทั่วไปจัดพิธีนี้ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสืบทอดฝีมือเชิงช่างของช่างเมืองเพชรบุรีไว้ เพราะในการประดิษฐ์ลูกโกฐนั้นจะต้องใช้ช่างที่มีฝีมือหลายแขนง เช่น ช่างไม้ในการก่อแบบ ย่อมุมของโครงไม้ ช่างตอกลาย ฉลุลายในการประดับลวดลาย หรือช่างเขียนภาพ เช่น ภาพแสดงปริศนาธรรม ภาพแสดงสุภาษิต ภาพชาดก ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานที่ละเอียดและมีความประณีตยิ่ง
  • พิธีกรรม
การลงโกฐ ที่เพชรบุรีมักใช้โกฐกลมมากกว่าโกศเหลี่ยม โกฐกลมส่วนใหญ่ยอดโกฐและฐานจะเป็นแบบย่อเหลี่ยม การนำศพใส่ในโกฐเริ่มต้นด้วยพิธีเปลื้องสุกำ หรือพิธีสุกำศพ คือต้องนำศพไปต้มรูดเอาเนื้อไปเผาเสียก่อนให้เหลือแต่กระดูกแล้วจึงนำมาใส่ ในลูกโกฐ แต่เดิมบางครั้งก็รูดเนื้อทั้งน้ำให้เป็นเหยื่อปูปลา หรือเถือเนื้อออกไปเผาต่างหาก แล้วนำเฉพาะกระดูกไปทำพิธีลงโกฐ ซึ่งจะต้องมีพิธีฉลอง เช่น มีโขนรำหน้าศพ มีปี่พาทย์ประโคม เมื่อเผาเสร็จแล้วก็จะมีมหรสพฉลอง เช่น หนังตะลุง หุ่นกระบอก ละครชาตรี โขน ละครไทย เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าภาพงาน ส่วนพิธีกรรมอื่น ๆ เช่น การบวชหน้าไฟ หรือการสวดทำบุญก่อนและหลังงานเผาศพ การทำพิธี ๓ หาบ รดน้ำมนต์กระดูกหลังวันเผานั้นก็มีเช่นเดียวกับประเพณีเผาศพของภาคกลางเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: